เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก ประโยคนี้สาวๆหลายคนคงเข้าใจกันดีใช่ไหมครับ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความผิดปกติภายในร่างกายขึ้น เช่น ปวดท้องน้อย ปวดปจดมาก ปจดผิดปกติ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นและคัน เป็นต้น
เมื่อมีอาการเหล่านี้ แน่นอนว่าการปล่อยรอไว้นานจะส่งผลเสียได้นะครับเนื่องจากอาการจะเป็นมากขึ้นและทำให้รักษายากเข้าไปใหญ่เมื่อเทียบกับมาพบสูตินรีแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆและรักษาให้หายโดยเร็ว
สำหรับการตรวจที่เรามักจะเคยได้ยินและคุ้นหูเวลาที่มาพบสูตินรีแพทย์ก็คือ “ตรวจภายใน” ใช่ไหมครับ แต่ก็จะมีบางคนที่อาจจะสับสนกับการตรวจอีกแบบหนึ่งก็คือ “อัลตราซาวด์”
จริงๆแล้วการตรวจทั้งสองวิธีถือเป็นสิ่งถนัดของสูตินรีแพทย์อย่างมากอยู่แล้วครับแต่เราจะเลือกวิธีไหนขึ้นกับว่าคนไข้มีอาการยังไงเนื่องจากการตรวจทั้งสองวิธีใช้วินิจฉัยโรคได้แตกต่างกัน และมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
การตรวจภายใน วิธีการตรวจคือคุณหมอจะใช้เครื่องมือปราศจากเชื้อสอดเข้าไปในช่องคลอดและตรวจดูรอยโรค เช่น การอักเสบช่องคลอดและปากมดลูก ติ่งเนื้อที่ปากมดลูก ลักษณะของตกขาวว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เป็นต้น หลังจากนั้นคุณหมอจะคลำดูว่ามีเนื้องอกที่มดลูกและปีกมดลูกหรือไม่ มีการอักเสบหรือไม่ ดังนั้นการตรวจภายในจึงเหมาะกับคนไข้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ เช่น เลือดออกทางช่องคลอดและปจดผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ ต้องการตรวจมะเร็งปากมดลูก ปวดท้องน้อย เป็นต้น
ส่วนการอัลตราซาวด์ เป็นการใช้หัวตรวจปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเข้าไปในตัวคนไข้แล้วแสดงผลออกมาเป็นภาพบนหน้าจอให้คุณหมอดูว่ามีเนื้องอกในมดลูกหรือถุงน้ำที่รังไข่หรือไม่ครับ ข้อดีของอัลตราซาวด์ก็คือ ถ้ามีก้อนเนื้องอกมดลูกหรือถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กมาก ก็ยังสามารถตรวจพบได้ครับ แต่ถ้าเป็นการตรวจภายใน ถ้าก้อนเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 4-5 ซม. แบบนี้ก็อาจจะตรวจไม่พบได้ครับ อย่างไรก็ตามข้อด้อยของอัลตราซาวด์คือ ไม่สามารถตรวจดูรอยโรคในช่องคลอดและปากมดลูกได้ซึ่งเป็นจุดที่ต่างจากการตรวจภายใน ดังนั้นการอัลตราซาวด์จึงเหมาะกับคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีเนื้องอกมดลูกและถุงน้ำรังไข่ เช่น ปวดท้องน้อย ปวดปจดมาก โดยที่ไม่ได้มีอาการตกขาวหรือเลือดออกผิดปกติ
แต่ในบางครั้งคนไข้ที่มีอาการซับซ้อนหรืออาการไม่ชัดเจนก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจภายในและอัลตราซาวด์ทั้งสองอย่างนะครับ เพื่อความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยมากที่สุดครับ
จากข้อมูลข้างต้นคงจะทำให้สาวๆหลายคนเข้าใจมากขึ้นถึงข้อดีข้อเสียของการตรวจทั้งสองวิธีแล้วนะครับ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่าอาการแบบที่เราเป็นต้องตรวจแบบไหนก็ไม่ต้องกังวลนะครับ แค่เล่าประวัติให้คุณหมอฟังเดี๋ยวคุณหมอจะเป็นผู้แนะนำเองครับว่าควรตรวจอะไรบ้าง