เมื่อพูดถึงคำว่า “เนื้องอกมดลูก” คงไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็น บางคนได้ยินคำนี้แล้วก็นึกไปถึงอะไรที่น่ากลัวหลายอย่าง เช่น กลัวเป็นมะเร็ง กลัวต้องผ่าตัด เป็นต้น
จริงๆแล้วเนื้องอกมดลูกไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นครับ เพราะมันไม่ใช่มะเร็งแต่เป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูกที่โตมากกว่าปกติจึงกลายเป็นก้อนๆ โอกาสจะเป็นมะเร็งน้อยมากๆๆ เรียกได้ว่าโอกาสถูกหวยยังมากกว่าที่ก้อนเนื้องอกมดลูกจะกลายเป็นมะเร็งเสียอีก
โดยเฉลี่ยแล้วพบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูก 25% พูดง่ายๆก็คือในผู้หญิง 4 คน จะมี 1 คนที่มีเนื้องอกมดลูก แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็นเนื้องอกหรือเปล่า? ก็ดูอาการเป็นหลักครับ เช่น ปจดมามากหรือมานานผิดปกติ ปวดปจดมากๆ คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย มีลูกยาก ปัสสาวะบ่อยๆ เป็นต้น ถ้ามีอาการดังกล่าวก็แนะนำให้ลองไปตรวจดูนะครับ การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้วครับ อาจจะมีอุลตร้าซาวด์เพิ่มเติมบ้าง
แล้วถ้าเกิดหมอบอกว่าเป็นเนื้องอกมดลูกจริงๆแล้วต้องผ่าตัดไหม? การรักษาเนื้องอกมีหลายวิธีครับ หลักๆมี 3 วิธี ได้แก่ สังเกตอาการ การผ่าตัดและการใช้ยา แล้วจะเลือกวิธีไหนดี?
- สังเกตอาการ … ถ้าคนไข้ไม่มีอาการใดๆเลย เช่น ปจดมาปกติ ไม่ปวดท้องน้อย ไม่มีปัสสาวะบ่อย แต่ตรวจร่างกายประจำปีแล้วพบโดยบังเอิญแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ครับ ส่วนใหญ่ก้อนเนื้อมักไม่ใหญ่เกิน 5-6 ซม. แต่ไม่ใช่ว่าสบายใจแล้วหนีคุณหมอไปเลยนะครับ ต้องมาติดตามอาการดูต่อเนื่องครับ คุณหมอจะนัด 3-6 เดือนเพื่อมาตรวจดูว่าก้อนใหญ่ขึ้นหรือไม่ และดูว่ามีอาการเปลี่ยนหรือเปล่า ถ้าดูแล้วก้อนใหญ่ขึ้นหรือมีอาการขึ้นมาก็อาจจะพิจารณาผ่าตัดครับ แต่ถ้าขนาดเท่าๆเดิมก็สบายใจได้ครับ เดี๋ยวพอเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนขนาดก้อนเนื้อก็จะยิ่งเล็กลงไปอีกด้วย
- การผ่าตัด … จะใช้กรณีที่คนไข้มีอาการชัดเจน เช่น ปจดมาปริมาณมากหรือมานาน เป็นต้น การผ่าตัดถือเป็นการรักษาเนื้องอกมดลูกที่ใช้บ่อยที่สุดครับ เนื่องจากมีข้อดีคือ แก้ไขที่สาเหตุโดยตรง ผ่าออกแล้วอาการหายเลยทันที ไม่ต้องมากังวลว่าเก็บก้อนเอาไว้แล้วจะโตขึ้นไหม จะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ไม่ต้องมาตรวจติดตามบ่อยๆ ถ้าคนที่มีลูกเพียงพอแล้วคุณหมอก็จะแนะนำตัดมดลูกไปเลยครับเพื่อลดโอกาสเป็นเนื้องอกซ้ำ ส่วนคนที่ยังต้องการมีลูกอีกก็แนะนำตัดเฉพาะเนื้องอกออกครับ แต่ต้องยอมรับนะครับว่ามีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้ อาจต้องมาผ่าใหม่นะครับ
- การใช้ยา … หากคนไข้มีอาการแต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ อาจจะด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น เป็นโรคหัวใจรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะผ่าตัดสูง หรือกลัวการผ่าตัดมาก ยังไงๆฉันก็ไม่อยากผ่าตัดเด็ดขาด แบบนี้ก็ผ่าไม่ได้ครับ การใช้ยามีหลายชนิดขึ้นกับอาการของผู้ป่วย เช่น ปจดมามากก็ฉีดยาคุมให้ปจดมาลดลง แต่ก็ไม่ได้ผล 100% นะครับ บางคนฉีดบ่อยเกินไปก็ทำให้กลายเป็นเลือดออกมากขึ้นก็มี ฉีดนานๆก็อ้วนขึ้น กระดูกบางได้ครับ นอกจากนี้ยังมียาฮอร์โมน GnRH ที่ช่วยลดขนาดก้อนได้ แต่มีข้อเสียคือราคาแพงมาก ฉีดต่อเนื่องนานๆจะทำให้กระดูกบางและก็ช่วยให้ก้อนขนาดลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นครับไม่ได้หายไปเลยนะครับ
โดยสรุปคือการรักษาก้อนเนื้องอกมดลูกมีหลายวิธีนะครับ ไม่ได้จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเดียว การจะเลือกวิธีไหนขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ผู้รักษาร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วยเป็นรายๆไป หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ ^^