ตรวจภายใน…ทำยังไงไม่ให้เจ็บ?

เมื่อเกิดเป็นผู้หญิงสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การตรวจภายใน ไม่ว่าจะโดนตรวจตั้งแต่สาวๆหรือรอไปตรวจตอนอายุเยอะๆ ยังไงก็ต้องมีสักวันที่ต้องโดนตรวจจนได้ 

จริงๆแล้วการตรวจภายในถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบโรคต่างๆได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น แต่สาวๆจำนวนมากที่ไม่กล้าไปตรวจภายในเนื่องจากเขินแพทย์และที่สำคัญก็คือ กลัวเจ็บ เพราะฉะนั้นวันนี้จะนำเทคนิคของการปฏิบัติตัวตอนตรวจภายในเพื่อไม่ให้เจ็บมาบอกกัน

อันดับแรกต้องบอกคุณหมอก่อนเลยว่า ดิฉันกลัวเจ็บ อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เช่น ตรวจครั้งแรกหรือเคยตรวจแล้วเจ็บมาก เพราะคุณหมอจะได้ตรวจให้นุ่มนวลมากขึ้น (บางทีหมอรีบๆเพราะคนไข้เยอะจริงๆครับ)

คนที่ไม่เคยคลอดลูกทางช่องคลอดมาก่อน ต้องแจ้งคุณหมอด้วยนะครับ เพื่อที่คุณหมอจะได้เลือกเครื่องมือตรวจช่องคลอดขนาดเล็กสุด (มีลักษณะคล้ายปากเป็ด) กรณีที่เคยคลอดลูกเองแล้วบางครั้งคุณหมอก็จะพิจารณาใช้ขนาดกลางหรือใหญ่ครับ เพื่อการตรวจที่ชัดเจน

หลังจากขึ้นเตียงตรวจแล้ว คุณหมอจะทำการสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจดูช่องคลอดและปากมดลูกว่าเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือในขณะที่คุณหมอกำลังใส่เครื่องมือนั้น ให้เราเบ่งลงก้นเหมือนเบ่งอุจจาระออกมา จะทำให้กล้ามเนื้อช่องคลอดคลายตัว เครื่องมือจะเข้าไปได้โดยง่าย ไม่เจ็บครับ ส่วนใหญ่ที่จะเจ็บกันเพราะขมิบและเกร็งจนเครื่องมือสอดเข้าไปได้ยากครับ

หลังจากใส่เครื่องมือจนสุดแล้วให้เราหยุดเบ่ง ทำตัวผ่อนคลาย หลังจากนั้นคุณหมอจะทำการถ่างเครื่องมือให้อ้าออกเล็กน้อยเพื่อตรวจดูความผิดปกติ เสร็จแล้วก็นำเครื่องมือออกครับ

ขั้นตอนสุดท้ายคุณหมอจะสอดนิ้วมือข้างหนึ่งเข้าไปตรวจในช่องคลอดพร้อมกับมืออีกข้างคลำที่หน้าท้องของเรา เพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้องอกหรือรอยโรคที่มดลูกและปีกมดลูกหรือไม่ ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่ไม่เจ็บอยู่แล้วครับเพียงแค่ไม่เกร็ง ผ่อนคลายสบายๆตามปกติครับ

เห็นไหมครับว่าการตรวจภายในไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะครับ ต่อไปนี้ถ้าสาวๆคนไหนมาตรวจกับสูตินรีแพทย์แล้วต้องได้รับการตรวจภายใน เพียงปฏิบัติตามที่บอกไปก็ไม่ต้องกลัวเจ็บแล้วครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราให้ความสำคัญถึงความเป็นส่วนตัวของคุณ ข้อมูลของคุณจะถูกเก็บเพื่อใช้ในบริการทางการแพทย์ของคลินิกเท่านั้น โปรดกดปุ่ม accept เพื่อยอมรับเงื่อนไขตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA